วีซ่าเผย 3 ใน 5 ของคนไทยเลือก “แตะเพื่อจ่าย” ผ่านบัตรเครดิตและเดบิตแบบคอนแทคเลสเพื่อเดินทางในเมือง

08/18/2022

ข้อดีของบัตรเครดิตและเดบิตประเภทคอนแทคเลส คือ ไม่ต้องต่อคิวเติมเงิน ใช้จ่ายได้เร็วและสะดวกยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถติดตามยอดการใช้จ่ายได้

 

วีซ่า ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก เผยถึงผลการศึกษาเกี่ยวกับระบบการเดินทางในประเทศไทย1ที่แสดงให้เห็นว่ามากกว่าสามในห้าของผู้เดินทางโดยสารด้วยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) และรถไฟฟ้าบีทีเอส (63%) เลือกที่จะใช้บัตรเครดิตหรือเดบิตประเภทคอนแทคเลสในการแตะเพื่อจ่ายค่าเดินทางในชีวิตประจำวันของพวกเขา

นอกจากนี้ เกือบสองในสามของผู้ขับขี่รถยนต์ (65%) ยังสนใจที่จะใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตประเภทคอนแทคเลส “แตะเพื่อจ่าย” ในการชำระค่าผ่านทาง แทนการเติมเงินในบัตรทางด่วนอีกด้วย

พิภาวิน สดประเสริฐ ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าการทำงานจากบ้านและแบบไฮบริดจะได้รับความนิยมสูงขึ้น แต่การเดินทางยังคงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพฯ และเมื่อบริการขนส่งในเมืองขยายตัว จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้คนจะสามารถเดินทางไปมาได้อย่างคล่องตัว ไม่ว่าจะด้วยระบบขนส่งสาธารณะหรือยานพาหนะส่วนตัว ในปัจจุบันอีกตัวเลือกหนึ่งที่ผู้บริโภคและผู้ให้บริการการขนส่งสาธารณะทั่วโลกต่างนิยมใช้ก็คือการแตะเพื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแบบคอนแทคเลสที่ออกโดยธนาคาร ที่จะช่วยลดขั้นตอนการเดินทางจากที่ต้องเติมเงินใส่บัตรอยู่เสมอ ซึ่งท้ายที่สุดทำให้เดินทางจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่งได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อกว่าเดิม”

จากการสำรวจพบว่า สาเหตุหลักสามประการที่ทำให้การใช้บัตรเติมเงินไม่สะดวกสบายสำหรับผู้ใช้มากนัก คือ การเสียเวลาเข้าคิวเพื่อเติมเงิน (30%) สามารถเติมเงินเข้าบัตรได้ที่สถานีเท่านั้น (29%) และไม่สามารถเดินทางได้หากยอดเงินในบัตรไม่เพียงพอ (26%)

ในกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจที่สนใจใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตประเภทคอนแทคเลส “แตะเพื่อจ่าย” ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุว่าข้อดีของการชำระเงินแบบดิจิทัลที่พวกเขาชื่นชอบคือ สะดวกและรวดเร็วกว่า (64%) สามารถติดตามการใช้จ่ายได้ (14%) และช่วยลดจำนวนบัตรในกระเป๋าสตางค์ (11%)

ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงสามารถแตะเพื่อจ่ายค่าโดยสารด้วยบัตรเครดิตประเภทคอนแทคเลสได้แล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา โดยยอดธุรกรรมเฉลี่ยเพิ่มมากขึ้นถึง 134% ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2565 ถึงช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2565 และยังมีบัตรเครดิตของวีซ่าจาก 75 ประเทศเข้ามา “แตะเพื่อจ่าย” สำหรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดินอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถยนต์ยังสามารถใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตประเภทคอนแทคเลสของวีซ่า ณ ด่านเก็บค่าผ่านทางบนทางด่วนทั้งหกสายทั่วกรุงเทพมหานครได้ โดยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 ถึงช่วงเดือนเมษายน - มิถุนายน 2565 พบว่ายอดการ “แตะเพื่อจ่าย” เพิ่มขึ้นถึง 41%

“เมื่อประเทศไทยเริ่มเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยว และชาวไทยเองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เราจะทบทวนในเทคโนโลยีที่เราได้นำเสนอ และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้ผู้คนทั้งที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และนักท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกราบรื่นและปลอดภัยยิ่งขึ้น วีซ่ามีเป้าหมายในการนำเสนอโซลูชันชำระเงินใหม่ๆ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไป” พิภาวิน กล่าวปิดท้าย

_________________________

1 การศึกษาเกี่ยวกับบริการคมนาคมขนส่งประจำปี 2565 ของวีซ่า จัดทำโดย YouGov ซึ่งทำการสำรวจกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,000 รายผ่านช่องทางออนไลน์ ในเดือนมิถุนายน 2565

 


 

เกี่ยวกับวีซ่า

Visa Inc. (NYSE:V) เป็นผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก วีซ่าให้บริการในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างผู้บริโภค ร้านค้า สถาบันการเงิน และหน่วยงานภาครัฐมากกว่า 216 พันล้านรายการต่อปี ในกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ภารกิจของเราคือการเชื่อมโยงโลกผ่านเครือข่ายนวัตกรรมการชำระเงินที่เชื่อถือได้ สะดวก และปลอดภัยสูงสุด เพื่อให้ผู้บริโภค ร้านค้า และเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน เราเชื่อว่าเศรษฐกิจที่รวมทุกคนในทุกที่เข้าด้วยกัน จะช่วยยกระดับทุกคนในทุกที่ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ Visa.com